สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

สัญญาเช่าให้ริบเงินประกันได้ ต้องเป็นไปตามข้อสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2551

โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่มาแห่งคำขอให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์ว่าโจทก์ใช้สิทธิขอเลิกสัญญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่า ข้อ 4 อันเป็นการขอเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา มิใช่อาศัยสิทธิขอเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 548 และ 551 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงว่าเมื่อเลิกสัญญาเช่า จำเลยต้องคืนเงินประกันหรือมัดจำให้โจทก์เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
___________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2542 และวันที่ 1 สิงหาคม 2542 โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาเช่าคลังสินค้ากับจำเลยจำนวน 2 ยูนิต หมายเลข 7/2 และหมายเลข 10/1 เลขที่ 53 หมู่ 8 ถนนพระยาสุเรนทร์ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร สัญญาเช่าคลังสินค้ายูนิตหมายเลข 7/2 ระยะเวลาการเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ค่าเช่าเดือนละ 21,000 บาท ค่ายามและค่าส่วนกลางเดือนละ 14,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระเดือนละ 35,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้วางเงินประกันการเช่า เป็นเงินค่าเช่าล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท เงินประกันค่าใช้ไฟฟ้าจำนวน 10,000 บาท เงินประกันค่าใช้โทรศัพท์จำนวน 20,000 บาท รวมเป็นเงินประกันการเช่าจำนวน 100,000 บาท สัญญาเช่าคลังสินค้ายูนิตหมายเลข 10/1 ระยะเวลาการเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2542 ค่าเช่าเดือนละ 16,800 บาท ค่ายามและค่าส่วนกลางเดือนละ 11,200 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระเดือนละ 28,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้วางเงินประกันการเช่า เป็นค่าเช่าล่วงหน้า 2 เดือน เป็นเงินจำนวน 56,000 บาท เงินประกันค่าใช้ไฟฟ้าจำนวน 10,000 บาท รวมเป็นเงินประกันการเช่าจำนวน 66,000 บาท รวมเงินประกันการเช่าที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยเป็นเงินจำนวน 166,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะเช่าคลังสินค้ากับจำเลยอีกต่อไป จึงได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าคลังสินค้าไปยังจำเลย มีผลให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดโจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้จำเลยส่งมอบเงินประกันการเช่าคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่จำเลยเพิกเฉย คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 166,000 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันฟ้องได้ 10,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 176,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 166,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับเงินประกันตามเช็คจากโจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องส่งคืนเงินตามเช็คที่โจทก์ทั้งสองฟ้องตามสัญญาเช่าทั้งสองฉบับ ข้อ 4 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าขอเลิกเช่าก่อนครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้เช่ารับว่าไม่เรียกร้องเงินค่ามัดจำการเช่า ค่ามัดจำอื่นๆ คืนจากผู้ให้เช่าซึ่งจำเลยถือเป็นข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาเช่า และถือเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งในการสูญเสียโอกาสหาลูกค้ามาเช่าคลังสินค้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจำเลยจะหาลูกค้าได้ จำเลยจึงมีข้อกำหนดดังกล่าวไว้ มิใช่ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่มีคลังสินค้าให้โจทก์ทั้งสองเช่าใช้ประโยชน์แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเลือกไปเช่าคลังสินค้าแห่งอื่น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ามัดจำตามฟ้องคืนจากจำเลย เพราะโจทก์ทั้งสองตกลงสละสิทธิเรียกร้องค่ามัดจำการเช่าและค่ามัดจำอื่นๆ แล้วจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2542 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 176,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 166,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาเช่าคลังสินค้าจากจำเลยจำนวน 2 ยูนิต กำหนดเวลาเช่า 3 ปี ยูนิตหมายเลข 7/2 นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ค่าเช่ารวมค่ายามและค่าส่วนกลางเดือนละ 35,000 บาท และวางเงินประกันค่าเช่ารวมค่ายามและค่าส่วนกลางล่วงหน้า 70,000 บาท เงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า 10,000 บาท เงินประกันค่าใช้โทรศัพท์ 10,000 บาท รวมเงินประกัน 100,000 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ยูนิตหมายเลข 10/1 นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2542 ค่าเช่ารวมค่ายามและค่าส่วนกลาง เดือนละ 28,000 บาท และวางเงินประกันค่าเช่ารวมค่ายามและค่าส่วนกลางล่วงหน้า 56,000 บาท เงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า 10,000 บาท รวมเงินประกัน 66,000 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2542 โจทก์ทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย และขอให้จำเลยคืนเงินประกันทั้งหมดจำนวน 166,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองแต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากทรัพย์ที่เช่าชำรุดบกพร่องจากเหตุเพลิงไหม้และทรัพย์ที่เช่าไม่อยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 548 และ 551 เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่มาแห่งคำขอให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิขอเลิกสัญญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่า ข้อ 4 อันเป็นการขอเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา มิใช่อาศัยสิทธิขอเลิกสัญญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่ศาลอุทธร์วินิจฉัย ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นและศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่คัดค้านข้อวินิจฉัยการเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติของกฎหมายของศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่าจำเลยต้องรับผิดคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด เห็นว่า โจทก์ทั้งสองขอเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ตกลงกันไว้โดยอาศัยข้อสัญญาเช่า ข้อ 4 วรรคสอง ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวระบุเงื่อนไขให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาว่า โจทก์ทั้งสองต้องแจ้งเป็นหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน และเมื่อมีผลให้สัญญาเช่าเลิกแล้ว โจทก์ทั้งสองต้องยอมให้จำเลยเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าในทันที กับโจทก์ทั้งสองจะไม่เรียกร้องเงินประกันหรือมัดจำคืนจากจำเลย ซึ่งข้อที่ว่าเมื่อครบกำหนด 60 วัน มีผลให้สัญญาเช่าเลิกต่อกัน โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าก็ได้ความว่า เมื่อครบ 60 วัน โจทก์ทั้งสองได้ส่งคืนทรัพย์ที่เช่าแก่จำเลยตามบันทึกส่งคืนโกดังที่เช่าเอกสารหมาย ล.3 ส่วนข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสองจะไม่เรียกร้องเงินประกันหรือเงินมัดจำคืนจากจำเลย โดยโจทก์ที่ 2 อ้างตนเป็นพยานโจทก์ทั้งสองว่าได้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยว่า เมื่อเลิกสัญญาเช่าต้องคืนเงินประกันหรือมัดจำแก่โจทก์ทั้งสองนั้นเห็นว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองนำสืบพยานบุคคลดังกล่าว จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) และเมื่อข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งแล้ว จึงมิใช่กรณีเป็นการนำสืบตีความหมายดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างในคำแก้ฎีกาเมื่อคดีฟังว่าตามสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่าโจทก์ทั้งสองจะไม่เรียกเงินประกันหรือมัดจำคืน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย"
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร